เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 เวลา 09.00 น. ณ อาคารวิทยวิภาส คณะวิทยาศาสตร์ มข. รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมทั้งคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผศ. นพ.ศักดา วราอัศวปติ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคุณภาพ ผศ.ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษา และ ดร.กิตติสันต์ ศรีรักษา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เข้าพบปะคณะผู้บริหาร บุคลากร คณะวิทยาศาสตร์ มข. โดยมี ผศ.ดร.สมเกียรติ ศรีจารนัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มข. พร้อมผู้บริหาร บุคลากรภายในคณะฯ ให้การต้อนรับ
การออกเยี่ยมคณะของผู้บริหารในครั้งนี้ เพื่อเป็นการนำเสนอนโยบายการบริหารงานของมหาวิทยาลัย เพื่อรับฟังแผนการดำเนินงานของคณะฯ และเปิดโอกาสให้บุคลากรได้หารือเกี่ยวกับปัญหาในการปฏิบัติงานพร้อมการเสนอแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน โดยในช่วงแรก คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มข. ได้นำเสนอแผนการดำเนินงานของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งท่านคณะบดีได้กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ มข. เป็นคณะวิทยาศาสตร์ชั้นนำในระดับอาเซียนด้านการผลิตบัณฑิตและการวิจัย มีระดับวิสัยทัศน์เป็น 1 ใน 4 ของประเทศ และ 1 ใน 8 ของอาเซียนภายในปี 2567 มีนักศึกษาประมาณ 4,000 คน มีอาจารย์ 228 คน มีศูนย์วิจัยดังนี้
ศูนย์วิจัยเฉพาะทางประกอบด้วย
1.ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์
2.ศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
3.ศูนย์วิจัยโปรตีนและโปรติโอมิกส์เพื่อการพานิชย์และอุตสาหกรรม
4.ศูนย์วิจัยเคมีวัสดุ
มีกลุ่มวิจัยดังนี้
1.กลุ่มวิจัยข้าวทนเค็ม
2.กลุ่มวิจัยเคมีจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
3.กลุ่มวิจัยพันธุศาสตร์และพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม
ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ได้ผลิตผลงานวิจัยออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่องโดยมืทิศทางวิจัย 12 เรื่องด้วยกันคือ
1.ความหลากหลายทางชีวภาพ
2.โปรตีนและโปรติโอมิกส์
3. วัสดุศาสตร์
4.ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
5.พลังงานทางเลือก
6.ทรัพยากรจุลินทรีย์และการประยุกต์ใช้
7.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
8.คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
9.คณิตศาสตร์และการประยุกต์
10.วิทยาการคณนา
11.วิเคราะห์อาหารและผลิตภัณฑ์
12.เคมีโคออร์ดิเนชันและวัสดุเชิงโมเลกุล
คณะวิทยาศาสตร์มีพิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ถือเป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยโดยเป็น 1 ใน 15 พิพิธภัณฑ์พืชระดับนานาชาติของไทยที่จดทะเบียนใน Index Herbariorum โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อ การเรียนการสอนและวิจัย บริการวิชาการแก่ชุมชน เผยแพร่ข้อมูล เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านความหลากหลายของพรรณไม้ในภูมิภาคอินโดจีน
นอกจากนี้คณะวิทยาศาสตร์ยังได้ให้บริการวิชาการในโครงการต่างๆ เช่น โครงการโอลิมปิกวิชาการ โครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย โครงการเสริมทักษะปฏิบัติการนักเรียน ม.ปลาย และกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน
จากนั้นท่านอธิการบดีได้นำเสนอนโยบายการบริหารงานของมหาวิทยาลัย โดยได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน(Education transformation) โดยจะเปลี่ยนวิธีการสอนจากการบรรยายให้นักศึกษาฟัง มาเป็นการให้นักศึกษาไปอ่านและศึกษาเนื้อหามาก่อน หากไม่เข้าใจในเนื้อหาที่เรียนจะมีการใช้ชั่วโมงบรรยายเป็นชั่วโมงของการพูดคุยถามตอบในประเด็นที่นักศึกษาไม่เข้าใจแทน
ในส่วนของงานวิจัยจากเดิมที่นักวิจัยสามารถกำหนดหัวข้อทำงานวิจัยด้วยตนเองได้ จะมีการเปลี่ยนใหม่โดยการให้ทุนทำวิจัยตามโจทย์ที่แหล่งทุนต้องการคำตอบแทน และงานวิจัยต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้ หรือนำไปทำผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัย
และในช่วงท้ายท่านอธิการบดีได้เปิดโอกาสให้บุคลากรได้พูดคุยแลกเปลี่ยนและสอบถามประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับนโยบายด้านการบริหารงานของมหาวิทยาลัย ตลอดจนการสะท้อนปัญหาจากการปฏิบัติงานของบุคลากร ซึ่งท่านอธิการบดีก็ได้กรุณาให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี
รูปกิจกรรม
https://www.cs.kku.ac.th/index.php/th/staff-news-all/1763-see-president#sigFreeId49a7fdde8e